วันอาทิตย์ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

ThE BiRd Of LovE


นกเงือก เป็นนกขนาดใหญ่ ส่วนมากมักจะมีขนสีดำสลับขาว ทั่วโลกมี 55 ชนิด [1] มีการแพร่กระจายอยู่ในแถบเขตร้อน ของทวีปอัฟริกา และเอเชียนกเงือกเป็นนกผัวเดียวเมียเดียว มีลักษณะการทำรังที่แปลกจากนกอื่น คือ เมื่อถึงฤดูกาลทำรัง นกคู่ผัวเมียจะพากันหารัง ซึ่งได้แก่ โพรงไม้ตามต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นยาง ที่อยู่ในที่ลับตา เมื่อตัวเมียเข้าไปอยู่ในโพรง จะทำความสะอาดแล้วเริ่มปิดปากโพรง ด้วยวัสดุต่าง ๆ เช่น ดิน เปลือกไม้ ตัวเมียจะขัง ตัวอยู่ภายในเพื่อออกไข่เลี้ยงลูก
ประเทศไทยมีนกเงือก 13 ชนิด ซึ่งในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ซึ่งมีอาณาเขตส่วนหนึ่งอยู่ใน จังหวัดนครราชสีมา มี 4 ชนิด ได้แก่ นกกก หรือ นกกะวะหรือ นกกาฮัง นกเงือกสีน้ำตาล นกเงือกกรามช้าง หรือ นกกู่กี๋ และ นกแก๊ก หรือนกแกง และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา พบ 9 ใน 12 ชนิดของนกเงือกที่พบในไทย ได้แก่ นกเงืกปากย่น นกเงือกชนหิน นกแก๊ก นกกก นกเงือกหัวหงอก นกเงือกปากดำ นกเงือกหัวแรด นกเงือกดำ นกเงือกกรามช้าง
นกเงือก หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า "Hornbill" มีอยู่ด้วยกันถึง 54 ชนิดในโลก พบได้ในป่าเขตร้อน ของทวีป อาฟริกา และ เอเซีย เท่านั้น ในประเทศไทยมีอยู่ถึง 12 ชนิด นกเงือกมีหน้าตาออกจะโบราณสักหน่อย ไม่มีสีสันสวยงามนัก สีขนมักมีสีดำ - ขาว ที่แปลกออกไปบ้าง คือสีน้ำตาล เทา มีขนาดใหญ่ถึงใหญ่มาก บางชนิดอาจมีขนาดตัวถึง 1.5 เมตร ความกว้างของปีกที่กางออกอาจถึง 2 เมตร เช่น นกกก แต่มีลักษณะที่น่าขัน คือ มันมีปากใหญ่ผิดสัดส่วนกับหัว แถมมี "โหนก" เหนือปาก ทำให้ดูเกะกะลูกตา และทำให้ดูเหมือนว่า เจ้านกเงือกจะต้องคอนโหนกที่ดูหนักอึ้งเกินความจำเป็น
ลักษณะของโหนก หรือ Casque ที่ว่านี้ ลวงตาดูว่าหนัก ที่จริงโหนกเป็นโพรง ยกเว้นโหนกของนกชนหิน Helmeted Hornbill ที่ตันดุจเดียวกับงาช้าง เจ้าโหนกของนกเงือกนี้ จะช่วยเราจำแนกชนิดของนกเงือกได้โดยง่าย เพราะจะมี ความ แตกต่างกันออกไป บ้างก็มีขนาดใหญ่ แบนกว้าง เช่น โหนกของนกกก บ้างก็มีรูปทรงกระบอก ทอดนอนตามความยาว ของจะงอยปาก ดูคล้ายกล้วยหอม แต่มีปลายงอนขึ้น เช่น โหนกของนกเงือกหัวแรด บ้างก็มีโหนกขนาดเล็ก เป็นหยัก เป็น ลอน ดูคล้ายกรามช้าง เช่น นกเงือกกรามช้าง ที่ไม่มีโหนกก็มี เช่น นกเงือกคอแดง
นกเงือก จะมีส่วนหนังเปลือยเป็นสีฉูดฉาดอยู่บ้าง เช่น หนังบริเวณ คอ ขอบตา เป็นต้น มีขนตายาวงาม ขาสั้น ชอบกระโดด ลิ้นสั้น จึง กินอาหารโดยการจัดอาหารอยู่ที่ส่วน ปลายปาก แล้ว โยนกลับลงคอไป ปรกติ นกเงือกจัดได้ว่า กินอาหาร ทั้งผลไม้ และ สัตว์เล็กๆ แต่ผลไม้พวก " ไทร" ดูจะเป็นอาหารหลักของนกเงือกเอเซีย
นอกจากร้องเสียงดังแล้ว นกเงือกเป็นนกที่บินเสียงดังมาก โดยเฉพาะนกเงือกขนาดใหญ่ เสียงดังนี้ เกิดจากการที่ อากาศผ่านช่องว่าง ระหว่างโคนขนปีก เนื่องจากนกเงือก ไม่มีขนคลุมด้านใต้ของปีก เมื่อกระพือปีกแต่ละครั้ง จึงเกิดเสียงดัง ราวกับรถจักรไอน้ำ และหากนกเงือกขนาดใหญ่บินมาเป็นฝูง จะทำให้เกิดเสียงดังราวพายุ
อุปนิสัยในการทำรังของนกเงือก เป็นลักษณะเด่น เฉพาะตัวของนกในวงศ์นี้ (Bucerotidae) คือ ทำรังในโพรงไม้ แต่มันจะไม่สามารถเจาะรังได้เอง อย่าง นกหัวขวาน ต้องเสาะหา โพรงที่มีอยู่โดยธรรมชาติ หรือ ที่มีสัตว์อื่น ทำให้เกิดขึ้น ที่แปลกคือไม่เพียงแต่ เข้าไปอยู่ในโพรง นกเงือกตัวเมีย ยังปิดปากโพรงเสียด้วย วัสดุต่างๆ อันได้แก่ มูลของมันเอง เศษไม้ ดิน เป็นต้น ผสมกัน พอก ปากโพรง ให้เล็กลงจนเหลือเพียงช่องแคบๆ เพียงพอที่พ่อนก จะ ส่งอาหารผ่านด้วยจะงอยปาก นกเงือกตัวเมีย จะออกไข่ ฟักไข่ และ เลี้ยงลูก อยู่ภายในโพรง จนกว่าลูกนกจะโตพอ ที่จะบินได้ จึงจะกะเทาะปากโพรง ออกมา ซึ่งกินเวลาประมาณ 3 - 4 เดือน
ชีวิตรักของนกเงือก เริ่มต้น ราวกลางเดือน มกราคม และ กุมภาพันธ์ เราจะเห็นนกเงือกอยู่กันเป็นคู่ ส่วนใหญ่แล้ว ตัวผู้ จะเสาะหารัง ตัวเมีย จะคอยติดตามไปดูด้วย และ ตัดสินใจว่าพอใจโพรงนี้หรือเปล่า เพราะตนจะต้อง อยู่ในโพรงนี้อีกหลายเดือน
โพรงรังของนกเงือก ซึ่งศึกษาที่เขาใหญ่ จะพบในต้นไม้ ตระกูล ยาง มากที่สุด โดยขนาดของต้นไม้ ที่มีโพรงใหญ่พอ หากวัดที่ระดับความสูง ของ หน้าอกคนวัด เส้นผ่าศูนย์กลาง ตกราวๆ 1 เมตร ปากโพรงจะต้องไม่ใหญ่ หรือ เล็ก เกินไป ขนาดพอดีๆ ก็ตกราว 20 x 12 เซนติเมตร ความสูงของเพดานรังกว่า 1 เมตร ขึ้นไป พื้นโพรงรัง ต้องไม่ลึก ต่ำกว่า ขอบประตูล่างมากนัก ความกว้างภายในโพรง ใหญ่พอดีก็ประมาณ 50 x 40 ซ.ม.โดยปรกติ นกเงือก จะใช้โพรงปีแล้วปีเล่า หาก โพรงนั้นยังเหมาะสมอยู่ ตัวผู้ จะเชิญชวนตัวเมีย ให้เข้าไป ดูรัง ด้วยการโผบินไปเกาะปากโพรง แล้วยื่นหัวเข้าไปสำรวจ ภายใน บินเข้าออกหลายครั้ง ขณะเดียวกันก็เกี้ยว พาราสีกันด้วย ตัวผู้จะกระแซะเข้าใกล้ตัวเมีย และ พยายามป้อนอาหาร ซึ่งได้แก่ผลไม้ให้ตัวเมีย บางคู่ อาจใช้เวลานาน หลายวัน กว่าตัวเมีย จะสนใจ และยอมบินเข้ามาดูรัง เมื่อคิดว่า ได้โพรงที่เหมาะสม เป็นที่ถูกใจแล้ว ตัวเมียจะเริ่มงานทันที ถ้าปากโพรงแคบไป เนื่องจากการ เจริญเติบโตของต้นไม้ นกจะเจาะปากโพรงให้กว้างอีกเล็กน้อย กะเทาะวัสดุปิดรังเก่าๆออก แล้วจะมุดเข้าไปในโพรง จากนั้น ตัวเมียจะทำความสะอาดภายในโพรง โดยการคาบเศษเมล็ดผลไม้เก่าๆ เศษขนของปีก่อนโยนทิ้ง แล้วเริ่มปิดปากโพรงเสียใหม่วัสดุที่หาได้ จะถูกผสมกับมูลของตัวเมีย รวมทั้งอาหารที่สำรอกออกมา แล้ว พอกลงบนปากโพรง ที่เปรียบเหมือนประตู โดยใช้จะงอยปากด้านข้างตีให้ติดกัน เมื่อวัสดุนี้แห้ง จะแข็ง และ เหนียวมาก ตัวผู้อาจช่วยหาวัสดุ เช่น ดิน หรือ เปลือกไม้มาให้ แล้วแต่ชนิดของนกเงือกว่า ขอบประตูที่ทำด้วยวัสดุอะไร เช่น นกกกใช้ เปลือกไม้ เศษไม้ผุๆ เศษอาหาร แต่ไม่ใช้ดินเลย ตรงข้ามกับนกแก๊ก จะใช้ดินเป็นส่วนใหญ นอกจากนี้ ตัวผู้ จะคอยเฝ้าเป็นเพื่อนอยู่ข้างนอก เกือบตลอดเวลา และ คอยป้อนอาหาร หลังจากตัวเมีย เสร็จงานปิดโพรงในแต่ละวัน บางคู่จะส่งเสียงเบาๆ ราวกับ ปลอบประโลมให้ตัวเมียอุ่นใจ และ เมื่อตัวผู้แวบหายไป ชั่วครู่ ชั่วยาม ตัวเมียจะละงานปิดโพรงตามไปทันที ตัวผู้จะต้องพากลับมาที่โพรงอีก จะใช้เวลาปิดปากโพรงอยู่ราว 3 - 7 วัน
เมื่อตัวเมีย ขังตัวเองอยู่ภายในโพรงเรียบร้อยแล้ว ตัวผู้จะทำหน้าที่ดูแลอย่างเคร่งครัด น่ายกย่อง สรรเสริญ เป็นอย่างยิ่ง นับเป็นเยี่ยงอย่างที่ดี ในระยะแรกๆ ของการทำรัง คือช่วง ตัวเมียฟักไข่ การป้อนอาหารจะไม่บ่อยนัก ราววันละ 2 - 3 ครั้ง อาหารส่วนใหญ่จะเป็นพวกผลไม้ ระยะนี้ตัวผู้พอมีเวลาให้ตัวเองบ้าง ก็จะแต่งตัวให้หล่ออยู่เสมอ ส่วนตัวเมีย ก็จะถือ โอกาส นี้ ผลัดขนเสียใหม่
เมื่อเวลาผ่านไปราว 5 - 7 สัปดาห์ ลูกนกจะฟักออกเป็นตัว ตัวผู้ต้องรับภาระหนักมาก พ่อนก จะเริ่ม หน้าที่ของตนตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้น จน หลังพระอาทิตย์ตก การป้อนอาหารจะถี่ขึ้นเรื่อยๆ วันละ 10 ครั้ง หรือกว่านั้น ชนิดอาหารที่นำมาป้อน จะมีความหลากหลายมากขึ้น มีผลไม้ป่าอื่นๆ นอกจากไทร เช่น ส้มโมง สุรามะริด กำลังเลือดม้า ตาเสือเล็ก ตาเสือใหญ่ หว้า มะหาด ขี้ตุ่น ยางโดน มะเกิ้ม พิพวนป่า มะขามแป พญาไม้ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องหาอาหารเสริมโปรตีนมาเลี้ยงลูก เช่น แมลงนานาชนิด สัตว์เลื้อยคลาน เช่น งู กิ้งก่า ปลา ปู กบ เขียด กิ้งกือ ไส้เดือน นก ไข่และลูกนก หนู กระรอก ค้างคาว เป็นต้น
การหาอาหาร ต้องไปตามแหล่งผลไม้สุก สำรวจตามโพรงไม้ เพื่อหาสัตว์ที่อาศัยอยู่ในโพรง เช่น กระรอกบิน หากจับได้ ก็จะนำมาเป็นอาหารให้ลูกนก อาจกะเทาะเปลือกไม้เพื่อหาตัวหนอน โบยบินเพื่อจับแมลงในอากาศ ลงพื้นดิน และริมน้ำ เพื่อจับปลา ปู หาไส้เดือน งูดิน เป็นต้น ต้องใช้กำลังงานไปมาก ช่วงนี้ จะดูพ่อนกโทรมมาก
นกเงือกเป็นนกที่สะอาดสะอ้าน ทั้งแม่และลูกนก จะถ่ายมูลผ่านช่องแคบๆ นี้ ลูกนก จะไม่สามารถ ถ่ายมูลให้พุ่งพ้นปากโพรง จึงตกอยู่แค่ปากโพรง เมื่อพ่อนก ป้อนอาหาร เสร็จ ในแต่ละครั้ง จะคาบเอามูลของลูกมันทิ้ง จาก พฤติกรรมนี้ เราสามารถ จะทำนายได้ว่า รังใดมีลูกนกฟักเป็นตัวแล้ว อาหารที่เป็นผลไม้ที่มีเมล็ดในแข็ง นกเงือก จะสำรอก ทิ้งออกมา ภายนอกโพรง เราจึงพบว่า ที่โคนต้นไม้ ที่เป็นรังนก จะเต็มไปด้วยมูลนก และ เมล็ดผลไม้นานาชนิด ซึ่งจะงอก เป็น ต้นกล้า เต็มไปหมด
การเลี้ยงลูกนกเงือก พ่อนกจะส่งอาหารผ่านแม่นก แม่นก จะมีส่วนในการกำหนดเมนู สำหรับ ลูกนก บางคราว พ่อนกนำผลไม้บางชนิดมาป้อนซ้ำๆ แม่นก จะปฎิเสธ ไม่ยอมรับ ถ้าพ่อนกยังตื๊อที่จะป้อนต่อไป แม่นกจะรับมา แล้ว โยนทิ้งไปต่อหน้าต่อตา ก็เป็นสัญญาณเตือนพ่อนกว่า จะต้องเปลี่ยนอาหารแล้ว มิฉะนั้นจะเหนื่อยเปล่า เพราะแม่เจ้าประคุณ โยนทิ้งอย่างไร้เยื่อใย ทั้งๆที่พ่อนกนั้น เวลาป้อนอาหาร แต่ละที ก็แสนจะอ่อนโยน พ่อนกจะสำรอกอาหารออกมาคราวหนึ่ง แล้วบรรจงป้อนให้แม่นก ชนิดปากต่อปาก จนกว่าแม่นกจะรับไป จะไม่มีการสำรอกไว้ในโพรงแล้วปล่อยให้เก็บกินเอง และ ไม่มีการผิดพลาด โดยป้อนผลไม้ที่ตัวเองกินเนื้อแล้วเป็นอันขาด หากเป็นอาหาร ประเภทสัตว์ ก็จะฆ่าให้ตายก่อน โดยฟาดกับ กิ่งไม้ หรือ กัดย้ำ ด้วยจะงอยปาก แล้วจึงป้อน
เมื่อเวลาล่วงเข้าประมาณสัปดาห์ที่ 10 ถึง 15 พ่อนกจะเริ่มลดอาหารลง ก็แสดงว่าใกล้เวลาอันสมควร ที่ลูกนกและแม่นกจะออกจากโพรงเสียที เมื่อออกจากโพรงแล้ว ลูกนกจะบินได้เกือบทันที เพราะซ้อมกระพือปีกไว้บ้างแล้ว ขณะอยู่ในโพรง พ่อแม่นกจะคอยดูแล โดยป้อนอาหาร และ สอนร่อนไปในหมู่ไม้ให้ลูกนกอีกราว 5 - 6 เดือน หรือจนกว่า ฤดูทำรังใหม่จะใกล้เข้ามา ก็เป็นอันว่าลูกนกบรรลุนิติภาวะ ที่จะหากิน ดูแลตัวเองได้
นกเงือก จัดว่ามีศัตรูน้อย แต่ที่สำคัญเห็นจะเป็น "หมาไม้" ซึ่งไต่ไปถึงรัง หากพบว่าปากโพรงเปิดอยู่ เนื่องจาก แม่นกออกมาก่อน ลูกนกจะตกเป็นเหยื่อของหมาไม้ได้ง่าย "อีกา" ก็เป็นศัตรูที่สำคัญอีกตัวหนึ่ง ที่มักคอยจิกตีลูกนก ที่เพิ่งออกจากโพรง
เมื่อเข้าฤดูฝน ก็หมดช่วงทำรัง นกเงือก มักรวมกันเป็นฝูงใหญ่บ้างเล็กบ้าง แล้วแต่ชนิดนกเงือก นกเงือกกรามช้าง ดูจะรวมฝูงกันมากที่สุด บางคราวอาจรวมกันมากถึง 1,000 ตัว ไปหากินและนอนตามหุบเขาลึก
ด้วยลักษณะการดำรงชีวิตดังกล่าวมาแล้ว นกเงือกจึงมีบทบาทที่สำคัญ ในระบบนิเวศของป่าดิบ นั่นคือช่วยกระจาย พันธุ์พืช โดยการสำรอกเมล็ดผลไม้ทิ้ง หรือ ถ่ายเมล็ดออกมา ชีวิตของนกเงือก ต้องขึ้นอยู่กับป่าที่สมบูรณ์ มีต้นไม้ใหญ่ที่มี โพรงให้ทำรัง มีแหล่งอาหารที่เพียงพอ จึงอาจใช้เป็นตัวบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของป่าได้
เนื่องจากสถานะการณ์ของป่าไม้บ้านเรา ลดน้อยลงไปทุกปี ประกอบกับการที่นกถูกล่า เพื่อนำมาเลี้ยง หรือ นำมาใช้ทำเครื่องประดับ ทำให้โอกาสที่นกเงือกจะสืบทอดพันธุ์ต่อไปให้คนรุ่นหลังๆ ได้ชื่นชม เห็นทีจะเลือนราง ถ้าทุกฝ่าย รวมทั้งพวกเรายังหลงฟุ้งเฟ้อกับการพัฒนาประเทศ โดยปราศจากการวางแผนที่รอบคอบ จริงจัง และ โปร่งใส มรดกไทย ที่ธรรมชาติได้สั่งสมมาช้านาน ไม่จำเพาะแต่นกเงือกเท่านั้น คงถึงกาลอวสานเป็นแน่แท้
โครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก
ความเป็นมา โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก ได้ทำการศึกษาวิจัยชีววิทยา และ นิเวศวิทยาของนกเงือกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2521 จนถึงปัจจุบัน และ ได้ขยายขอบเขตพื้นที่ป่าตะวันตก และ ภาคใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการศึกษาวิจัยฯ ทางภาคใต้ ในพื้นที่ จังหวัดปัตตานี นราธิวาส และ ยะลา
ทางโครงการฯ ได้รับความร่วมมือ ในการศึกษาวิจัย จากชาวบ้าน ในบริเวณนั้นเกือบทั้งหมด ซึ่งแต่เดิม ชาวบ้าน ที่มีรายได้ต่ำ ( 1,500 - 3,000 บาท ต่อเดือน ) ก็จะหารายได้เสริม จากการจับลูกนกเงือกจากรัง ไปขาย และหา ของป่า ฯลฯ จนกระทั่ง โครงการเข้าไปทำการศึกษาวิจัย โดยให้ชาวบ้านเข้ามาร่วมงาน ในการเก็บข้อมูลทางวิชาการ และ เพื่อ ปลูกฝัง ให้ชาวบ้าน เลิกนำลูกนกเงือกไปขาย หันมาช่วยกันอนุรักษ์นกเงือก จนกระทั่งปัจจุบัน ทางโครงการฯมีจำนวนรังนก ที่ต้องดูแล และ เก็บข้อมูลทางวิชาการดังนี้
นกกก 41 รัง
นกเงือกกรามช้าง 5 รัง
นกเงือกหัวแรด 19 รัง
นกชนหิน 9 รัง
นกเงือกปากดำ 8 รัง
นกเงือกหัวหงอก 2 รัง
นกเงือกปากย่น 1 รัง
จำนวนทั้งสิ้น 84 รัง
หมายเหตุ
นกเงือกลำดับที่ 3 - 7 เป็นชนิดที่อยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อการใกล้สูญพันธุ์
เพื่อเป็นการอนุรักษ์นกเงือก ให้คงอยู่สืบไป และ สอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้าน โดยให้คนเมือง ที่ห่างไกลจากธรรมชาติ ได้มีความรู้สึกหวงแหนร่วมกัน และ มีความต้องการ ช่วยเหลือ และ อนุรักษ์นกเงือกให้อยู่สืบไป ชั่วลูกชั่วหลาน
วัตถุประสงค์
เพื่อเป็นการสนับสนุนชาวบ้าน ในบริเวณนั้น ให้ มีกำลังใจ ที่จะอนุรักษ์นกเงือก ต่อไป
เพื่อศึกษาชีววิทยา และ นิเวศวิทยา ของนกเงือก ที่ใกล้จะสูญพันธุ์
เพื่อให้ชาวบ้านเก็บข้อมูลทางชีววิทยา และ นิเวศวิทยา ของนกเงือก เพื่อเป็นข้อมูลทางวิชาการ และ เป็นการเฝ้าระวังสถานะภาพของ ประชากรนกเงือก ในพื้นที่นั้นๆ ในระยะยาว
วิธีการ ให้ผู้ที่สนใจอุปการะครอบครัวนกเงือกในแต่ละชนิด ซึ่งจะมีชาวบ้านเป็นผู้ดูแล และ เก็บข้อมูลนั้น สมทบทุนเพื่อเป็น ค่าใช้จ่าย ให้กับชาวบ้าน ที่ดูแลนกเงือกและเก็บข้อมูลร่วมกับโครงการศึกษานิเวศวิทยา ของ นกเงือกทางภาคใต้
สิ่งที่ผู้อุปการะครอบครัวนกเงือกจะได้รับ
รายงานต่างๆ เกี่ยวกับนกเงือกที่ท่านอุปการะ ซึ่งประกอบด้วย
1.1 สถานภาพของนกเงือกที่ท่านอุปการะ
1.2 รายละเอียดเกี่ยวกับตัวนกเงือกชนิดนั้น
1.3 สถานที่ที่นกเงือกทำรัง
1.4 ชนิดของต้นไม้ที่นกทำรัง และ ลักษณะของต้นไม้ที่เป็นต้นรัง พร้อม รูปประกอบ
2. ถ้าท่านผู้ที่อุปการะครอบครัวของนกเงือก มีความประสงค์ที่จะ ไปเยี่ยมชมนกเงือก ที่ท่านอุปการะอยู่ ทางโครงการฯ จะจัดนำท่านไป โดยท่านจะต้องเสียค่าใช้จ่าย ในการเดินทาง ทั้งหมดเอง
3. ประโยชน์ทางอ้อม ที่ท่านจะได้รับ คือ ท่านจะมีส่วนร่วม ในการอนุรักษ์ ทรัพยากรธรรมชาติ อันเป็นมรดก ล้ำค่า ของ คนไทย และ ท่าน ยังได้ชื่นชมธรรมชาติของนกเงือก ในถิ่นที่นกเงือกดำรงชีวิตอยู่
หมายเหตุ พื้นที่ที่ดำเนินการโครงการอุปการะครอบครัวนกเงือก คือ พื้นที่อุทยานแห่งชาติ บูโด - สุไหงปาดี จังหวัดปัตตานี นราธิวาส และ ยะลา
อัตราค่าอุปการะครอบครัวนกเงือกแต่ละชนิดต่อครอบครัว / ปี
ชื่อชนิดของนกเงือก ค่าอุปการะ
นกเงือกปากย่น 7,200 บาท
นกเงือกหัวหงอก 3,700 บาท
นกชนหิน 3,700 บาท
นกเงือกปากดำ(กาเขา) 3,200 บาท
นกเงือกหัวแรด 3,200 บาท
นกกก นกกาฮัง นกกาวะ 2,700 บาท
นกเงือกกรามช้าง หรือ นกกู๋กี๋ 2,700 บาท

PoR

PoR

i like tinker bell

i like tinker bell